สิงห์บุรีสายน้ำและความทรงจำ
สิงห์บุรีสายน้ำและความทรงจำ (อสท)
ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม และ โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ
เมื่อมายืนเบื้องหน้า อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ถ้อยคำต่าง ๆ ก็ผุดพรายขึ้นมา ความผูกพัน ความรัก บรรพบุรุษ เสียสละ ภูมิใจในบ้านเกิดของตน...คงเป็นความจริงที่ว่าไม่มีแผ่นดินใดจะอบอุ่นและภูมิใจเท่าบ้านเกิด
ล่วงมากว่า 200 ปีแล้ว ทว่าบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรและตำนาน ก็เล่าขานวีรกรรมชาวบ้านบางระจัน และวิเศษชัยชาญ ในการหาญสู้กับกองทัพพม่า ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกพ่ายในเดือน 4 พ.ศ. 2308
1. ตำบลแห่งนั้นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมมีคลองทอดมาบรรจบ จึงเป็นชุมทางค้าขายมาแต่โบราณ บ้างหาบปลามาขาย บ้างเป็นพืชผักนานา น้ำตาลโตนดหวานหอม เรือเมล์ไปยังเมืองต่าง ๆ ก็แวะจอดที่นี่ เช่นเดียวกับชุมชนริมน้ำทั้งหลาย เมื่อความหมายของสายน้ำเปลี่ยน เส้นทางสัญจรก็เปลี่ยนตาม ปากบาง คือตำบลแห่งนั้น ผ่านยุครุ่งโรจน์มาเนิ่นนาน จากตลาดอันคลาคล้ำด้วยผู้คน ล่วงปีที่ 150 ปากบางโรยรา บานเฟี้ยมที่เคยเปิดกว้างทุก ๆ ร้าน เต็มด้วยข้าวของเครื่องใช้ ในวันนี้แทบทั้งหมดหับปิดตาย
บ่ายวันอาทิตย์ ผมและมิตรซึ่งมีรากเหง้าสิงห์บุรีเข้าไปเยือนตัวตลาด เหมือนเช่นทุกวัน มีบานเฟี้ยมเปิดเพียงไม่กี่ร้าน "แต่ก่อนใคร ๆ ก็ต้องมาที่นี่ เพราะมีของขายทุกอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของดีจากบ้านต่าง ๆ ร้านทองมี 3 ร้าน" ยายศิริพร เล่าพลางยิ้มเย็น ๆ หน้าห้องแถวไม้อายุร่วมร้อยปี
ผมมองเข้าไปในร้าน ตามชั้นวางของดูโล่งว่าง ยายศิริพรเล่าว่า สมัยแม่และยาย ร้านนี้ขายข้าวเปลือกผ้าไตร ลูกค้ามากมาย ถัดจากร้านยายศิริพรเป็น ร้านขนมเปี๊ยะโซวเม่งเฮง ร่วม 70 ปีแล้ว ที่รสหวานหอมเลื่องลือไปไกล ในวันที่ตลาดเงียบเหงา ร้านโซวเม่งเฮงยังคงรสมือและความตั้งใจ
"เราทำจำนวนจำกัด เป็นอย่างนี้ตั้งแต่รุ่นเก๋ง เพราะอยากให้คนซื้อได้กินของอร่อย สดใหม่" ยุบล เจริญคุณวิวัฏ ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าให้ผู้มาเยือนฟัง ใบหน้าระบายยิ้ม จากร้านโชวเม่งเฮง ทางเดินเชื่อมกับอีกซอย ด้านหลังคือแม่น้ำเจ้าพระยา สองฟากซอยปรากฏเรือนแถวไม้เก่ากร่อน บางคูหาพยายามยื้อเวลาไว้ด้วยการซ่อมแซม ทาสีสดใส
ถึงหัวมุมถนนอีกด้าน เราก็พบร้านเปิดบานเฟี้ยมติดกันสามร้าน ดูเป็นมุมมีชีวิตที่สุดในปากบาง เราแวะนั่งพัก พูดคุยหน้าร้านกระยาสารทแม่ทองสุข น้ำเย็น ๆ เสมือนน้ำใจ กลิ่นกระยาสารทหอมหวนในลมบ่าย
"ตอนฉันสาว ๆ คนแน่นเอี้ยด เดินแทบไม่ได้ กล้วยอ้อยเอามาวางเดี๋ยวเดียวก็ขายหมด ไม่มีเวลากินข้าวกันเลย" ยายชูศรี จังตระกูล เล่าแล้วก็หัวเราะสบายใจ ในวัย 92 ภาพเหล่านั้นยังเคลื่อนไหวแจ่มชัด เช่นเดียวกับ ร้านบรรจงโอสถ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ตู้ยาขนาดใหญ่เต็มผนังบ่งบอกว่ากิจการเติบโตเพียงใด ถัดจากร้านขายยาคือร้านกาแฟอายุ 70 ปี "ร้านแป๊ะธง" ที่ใคร ๆ รู้จักอยู่หน้าท่าเรือเก่า สมัยปากบางคึกคัก เรือเมล์สองชั้นสิงห์บุรี-กรุงเทพฯ ก็แวะจอดที่นี่
ลมบ่ายพัดผ่านไป ท้องฟ้าอึมครึมเมฆฝน เราล่ำลาทุกคน ในมือมีของฝากมากหลาย ขนมเปี๊ยะหวานหอม กระยาสารท หมูทุบ มะม่วงเขียวเสวย น้ำใจที่ใครหลายคนหยิบยื่นให้ หันกลับไปมองข้างหลัง เรือนแถวไม้เก่าก่อนนั้นคือสิ่งจริงแท้ หากย้อนกลับมาอีกครั้ง เรือนบางหลังอาจหายไป ทว่าความทรงจำดี ๆ จะไม่หายสูญ
2. ฤดูฝนมาเยือนแล้ว ท้องนาปูลาดด้วยกล้าข้าวสีเขียว น้ำในลำคอลงต่าง ๆ เริ่มเพิ่มระดับแม่น้ำน้อยไหลเอื่อยลงได้ เราเดินทางเลียนแม่น้ำน้อยแม่น้ำสายน้อย ซึ่งทอดผ่านท้องทุ่ง ย้อนกลับไปมองอดีตอันรุ่งเรืองของสิงห์บุรี ที่ วัดพระปรางค์ อำเภอบางระจัน อดีตยังคงปรากฏรูปรอยในอาคารขนาดใหญ่ เตาเผาทรงเรือประทุนนอนสงบนิ่งผ่านกาลเวลา ด้วยความยาว 14 เมตร กว้าง 5.6 เมตร ปล่องควันไฟเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.15 เมตร เตาเผาซึ่งใหญ่สุดในบ้านเรา
ย้อนเวลากลับไป ช่วง พ.ศ. 2137 – 2399 หลังเกิดการสู้รบระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผา มีการกวาดต้อนช่างปั้นฝีมือดีลงมา แล้วชุมชนใหม่ก็เกิดขึ้นริมน้ำน้อย ด้วยชายฝั่งปรากฏดินชั้นดี เหนียวนุ่ม ปั้นขึ้นรูปได้ง่าย ทั้งยังมีทรายผสม ทำให้ทนความร้อนสูง เนื้อจึงแกร่ง ทนทานต่อการใช้งาน
ในยุคดังกล่าว เตาแม่น้ำน้อยผลิตเครื่องใช้มากหลาย เช่น ไหสี่หู ขวดปากบาน กระปุก อ่าง ลูกกระสุนดินเผา ครก หม้อข้าว คนที ผลิตกระเบื้องปูพื้นวัดไชยวัฒนารามในอยุธยา ปั้นท่อน้ำดินเผาส่งไปยังเมืองลพบุรี ทั้งยังส่งไปขายตามเมืองไกล เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮอลันดา รวมถึงสร้างประติมากรรมรูปไกรสรราชสีห์ สัญลักษณ์เมืองสิงห์บุรีในเวลาต่อมา
ฤดูฝนมาเยือนแล้ว ท้องนาปูลาดด้วยกล้าข้าวสีเขียว น้ำในลำคลองต่าง ๆ ขณะยืนอยู่เบื้องหน้าเตาเผา ตัวตนของเราดูเล็กจ้อย กลิ่นดินขึ้นอับคล้ายลมหายใจของกาลเวลา มันทั้งเชิญชวนให้ค้นหา ยำเกรง และศรัทธาอยู่ในคราวเดียวกัน อารมณ์เช่นนี้คล้ายตอนไปเยือน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ภายในวัดโบสถ์ พระอารามหลวง บนศาลาหลังใหญ่ พื้นปูไม้มันเลื่อม ใครหลายคนยืนนิ่งเบื้องหน้าพระธรรมจักรเก่าแก่ ราวกับสวดมนต์ภาวนา
พระธรรมจักรนี้คือหนึ่งในโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบในเมืองโบราณบ้านดูเมือง ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี ชุมชนซึ่งย้อนเวลาไปถึงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 สมัยทวารวดี ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์คือเขตพุทธาวาสของวัดพระนอนจักรสีห์ ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระนอน พระพุทธรูปคู่เมืองสิงห์บุรี องค์พระปฏิมานี้บ่งบอกว่าปรากฏก่อนมีกรุงศรีอยุธยา มีตำนานเล่าว่า ท้าวอู่ทองซึ่งเป็นเจ้าเมืองได้พบเนินดินใหญ่ปกคลุมพระพุทธรูปใจกลางป่า จึงชักชวนพ่อค้าเกวียนช่วยกันบูรณะ ด้วยแรงแห่งศรัทธา องค์พระนอนความยาว 47.40 เมตร ก็คืนความงดงาม
ตะวันบ่ายคล้อย ในพระวิหารผมได้พบศรัทธาที่สืบทอดต่อมายาวนาน ผู้คนก้าวเดินช้า ๆ สำรวมจิต ก้มลงกราบองค์พระปฏิมา แล้วเสียงสวดมนต์ก็ดังกังวาน กลิ่นธูปควันเทียนล่องลอย ดอกไม้เสมือนเรื่องบูชา ราวกับภาพอดีต ทอดมาบรรจบปัจจุบัน เคลื่อนไหวฉายชัดอยู่ตรงหน้า
3. เสียงไก่ขันกังวานแว่ว หมอกบาง ๆ ลอยเรี่ยแม่น้ำน้อย พระและเณรเดินเรียงเป็นแถวยาว แวะรับบิณฑบาตตามเรือนต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ ยามเช้าแม่น้ำน้อยดูสงบงาม ดั่งใบหน้าหญิงสาวที่ไร้แป้งแต่งหน้า น้ำยังใสสะอาด อุดมด้วยปูปลา "ตอนเด็ก ๆ เราใช้ "ปุเล" ติดตาข่ายลากปลาเข้าตลิ่ง มีสารพัดทุกอย่าง ปลากด ปลาเกล็ด" ยายทองม้วนเล่า ในมืออุ้มขันเงิน ซึ่งเพิ่งตักบาตรพระและเณร
เนิ่นนานแล้วที่สิงห์บุรีเป็นเป็นเมืองอู่ข้าวอู่ปลา ความอุดมสมบูรณ์ปรากฏทั้งในน้ำและในนา เช่น ปลาช่อนแม่ลาอันเลื่องชื่อ "ปลาบ้านเรามีชุกชุม จะต้มยำ นึ่ง ทอด ก็ทำได้หลากหลาย ทั้งปลาหนัง คัง กดแก้ว หางแดง หางดอก ม้า สวาย เทโพ ช่อน ปลาบู่ยิ่งเนื้อหวานหอม" นิธิโรจน์ พิภพเจริญศรี เจ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำน้อย เล่าน้ำเสียงภูมิใจ
ข้ามท้องทุ่งกว้างเข้ามาในเมือง ที่วัดสว่างอารมณ์ ผมก็พบน้ำเสียงภูมิใจคล้ายคลึงกัน "ทุกวันนี้เหลือหนังใหญ่แค่ 2 ที่ มีบ้านเรากับราชบุรี ของเรานี่เล่นศึกใหญ่ได้เลย เพราะมีตัวหนังครบสมบูรณ์" ตาสัมพิมพ์ ดิษฐ์วิเศษ เล่าน้ำเสียงภูมิใจ ขณะดูลูกหลานฝึกซ้อมหนังใหญ่บนศาลาการเปรียญ
กล่าวถึงหนังใหญ่ จัดว่าเป็นการละเล่นชั้นสูงในอดีตจะเห็นการเชิดหนังใหญ่ในงานพระศพของเจ้านาย และเนื่องจากต้องใช้คนมาก ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หนังใหญ่จึงมักเป็นของวัดสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเก็บรักษาหนังใหญ่ไว้ถึง 300 ตัว มีการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และปิดเทอม ครูหนังใหญ่รุ่นเก่า ๆ ก็เข้ามาถ่ายทอดศิลปะนี้แก่ลูกหลาน "ไม่อยากให้หายสูญ" ตาสัมพิมพ์บอกสั้น ๆ ขณะเข้าไปดัดมือลูกศิษย์รุ่นหลานให้อ่อนช้อย แม้วัยจะล่วงวัย 82 แล้ว การเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน
เราอยู่ดูเด็ก ๆ ฝึกซ้อมหนังใหญ่จนบ่ายคล้อย ระหว่างทางไปอำเภอค่ายบางระจัน ความรู้สึกบางอย่างก็แวบผ่านเข้ามา เมื่อมายืนเบื้องหน้าอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ถ้อยคำต่าง ๆ ก็ผุดพรายขึ้นมา ความผูกพันความรัก บรรพบุรุษเสียสละ ภูมิใจในบ้านเกิดของตน...คงเป็นความจริงที่ว่า ไม่มีแผ่นดินใดจะอบอุ่นและภูมิใจเท่าบ้านเกิด ล่วงมากว่า 200 ปีแล้ว ทว่าบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร และตำนานก็เล่าขานวีรกรรมชาวบ้านบางระจันและวิเศษชัยชาญ ในการหาญสู้กับกองทัพพม่า ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกพ่ายในเดือน 4 พ.ศ. 2308
ผมไม่อาจรู้ได้ว่า ประวัติศาสตร์มีกี่ด้าน ถูกจารึกไว้กี่หน้า ทว่ากับเลือดเนื้อที่สูญเสียไปมากมาย เราควรค้อมคารวะแด่พวกเขา ในฐานะมนุษย์ซึ่งสละตนเองด้วยความรักและศรัทธา เช่นเดียวกับปากบาง เมื่อเส้นทางสัญจรเปลี่ยน ตลาดริมแม่น้ำในเมืองสิงห์บุรีก็เปลี่ยนตาม
4. จากที่เคยคึกคัก เป็นจุดจอดเรือเมล์ไปจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงเป็นแหล่งค้าขายสินค้านานา วันนี้ตัวตลาดค่อนข้างเงียบเหงา ร้านเก่าแก่ยังเปิดได้ก็ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมา เช้าตรู่เราแวะมาร้านกาแฟโบราณในตลาด ตัวร้านเป็นห้องแถวไม้ 1 คูหา เก่าแก่ตามอายุกว่า 70 ปี
"เมื่อก่อน ตี 4 ก๋งกับเตี่ยก็ลุกมาเปิดร้านแล้ว เพราะตลาดสดเริ่มขาย คนผ่านไปมาต้องแวะกินกาแฟ" ธนิต ธิตินิลนิธิ ทายาทรุ่น 3 เล่าขณะใช้ถุงผ้าชงกาแฟอย่างชำนาญ ถึงวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ตลาดสดย้ายไปอยู่ริมถนนสายหลัก ลูกค้าเก่า ๆ ทยอยจากไปโต๊ะไม้มันเลื่อมอายุร่วมร้อนปี จึงว่างเปล่าหลายโต๊ะ ทว่าบรรยากาศ "สภากาแฟ" ยังไม่สูญหาย
"ข่าวบินลาเดนพาดหัวตัวใหญ่เลย" ใครบางคนเปิดประเด็น จากที่เคยคึกคัก เป็นจุดจอดเรือเมล์ไปจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงเป็นแหล่งค้าขายสินค้านานา "เลือกตั้งหนนี้ จะเลือกใครดี" อีกคนตั้งคำถาม
แดดเช้าค่อย ๆ ฉายเข้ามาในร้าน ผู้คนทยอยกลับบ้าน เราขับรถวนรอบเมือง เข้าไปดูตลาดสดซึ่งมีปลาแม่น้ำวางเรียงรายให้ซื้อหา ใช้เวลาอึดใจก็วนครบรอบ หากเป็นเมืองใหญ่ เราคงหนีไม่พ้นรถราอันคลาคล่ำ จากตัวเมือง ใครบางคนชวนไปเที่ยวอำเภอท่าช้าง ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง เราก็พบตนเองอยู่ใต้เงาไม้ร่มรื่น คูคลองและท้องทุ่งนา ลมพัดเย็นสบายแม้แดดจะเริ่มจ้า
ในสวนผลไม้ของ ณัฐวุฒิ จันทร์พงษ์แก้ว ชาวสวนวัยหนุ่ม เรายังทันได้ชิมลิ้นจี่เนื้อนุ่มหวาน "เป็นพันธุ์สำเภาแก้วครับ จากอัมพวา อีกสองสามเดือนชมพู่ทองสามสีจะแก่ได้ที่ แล้วกลับมาเที่ยวอีกนะครับ" ชายหนุ่มเชื้อเชิญอย่าคนมีอัธยาศัย หลังจากเข้าไปผจญชีวิตในเมืองระยะหนึ่ง ณัฐวุฒิก็พบว่าไม่มีที่ใดน่าอยู่เท่าบ้านเกิด เขากลับมาพร้อมความรู้ที่สั่งสมมาจากสวนผลไม้แถบนนทบุรี รวมกับความสนใจในทฤษฏีพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10 ปีให้หลัง เขาก็ยืนหยัดมั่นคงในฐานะ "ชาวสวน" ทั้งกระท้อน ลิ้นจี ชมพู่ ให้ผลเป็นที่พอใจ ผืนดินว่าง ๆ เขาลงพืชผักกินได้ ปลูกดาวเรืองไว้ตัดดอกขาย เลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ ในร่องสวนก็มีปลาสมบูรณ์ และจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปลอดยาพิษร้าย หิ่งห้อยก็เริ่มเข้ามาอาศัย หลังอิ่มเอมมื้อเย็นซึ่งเจ้าของสวนเอื้อเฟื้อด้วยน้ำใจ เราเดินเข้าไปในสวนผลไม้ จันทร์ทอแสงนวลใย เมื่อสายตาเริ่มชินกับความมืด เบื้องหน้าก็ปรากฏจุดแสงสีเขียววับวาว แลเกลื่อนพราวอยู่ตรงโน้นตรงนี้ บ้างเคลื่อนไหว บ้างเกาะนิ่งกับต้นไม้ ทอแสงวิบวับราวกับดวงไฟประดับต้นคริสต์มาส
"สงบงาม" ...ใครบางคนเอ่ยคล้ายรำพึง ในยามนั้นผมนึกถึงปากบาง ร้านกาแฟ และท่าเรือร้างผู้คน อาจเป็นเช่นเดียวกับหิ่งห้อย เมื่อปราศจากยาพิษร้าย พวกเขาก็ค่อย ๆ คืนกลับมาอาศัย ทอแสงวับวามงามตา และในวันหนึ่งเมื่อผู้คนย้อนกลับมาค้นหาความหมายของสายน้ำ รอยยิ้มและความสงบงามจะหวนคืนเรือนแถวไม้ ความทรงจำจะถูกปลุกให้มีชีวิตชีวา
คู่มือนักเดินทาง
สิงห์บุรีเป็นเมืองเล็ก แต่ละอำเภออยู่ห่างกันไม่เกิน 20 กิโลเมตร การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงสะดวก ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (สายเอเชีย) ตัวเมืองอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 142 กิโลเมตร
ที่สถานีขนส่งหมอชิต บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ-สิงห์บุรีทุกวัน สอบถามตารางเวลาได้ที่ Call Center 1490
จากสถานีขนส่งจังหวัด สามารถเหมารถสองแถวไปเที่ยวอำเภอต่าง ๆ ได้ วันละ 1,000 – 2,000 บาท ตามสถานที่และระยะทาง
ที่เที่ยว
ปากบางน่าแวะไปเยือน แม้ตัวตลาดจะไม่ได้คึกคักเหมือนแต่ก่อน ทว่าเรือนแถวไม้เก่าแก่ อาหารการกิน และน้ำใจผู้คนก็เป็นเสน่ห์ซึ่งหาได้ไม่ง่ายในทุกวันนี้
สิงห์บุรีเป็นเมืองพุทธธรรม มีวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธามากมาย
อำเภอเมืองฯ วัดพระนอนจักรสีห์ ใกล้กันเป็นวัดหน้าพระธาตุ ทั้งสองเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสิงห์บุรี วัดว่างอารมณ์ ภายในวัดอนุรักษ์หนังใหญ่ไว้ วัดประโชติการาม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติศิลปะสุโขทัย
อำเภอท่าช้าง วัดพิกุลทอง สถานที่จำพรรษากระทั่งมรณภาพของหลวงพ่อแพ พระเกจิที่ผู้คนศรัทธา
อำเภออินทร์บุรี วัดโบสถ์ ภายในเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี มีโบราณวัตถุน่าชมมากชิ้น วัดม่วง ในอุโบสถหลังเล็กมีภาพจิตรกรรมอันงดงาม
อำเภอค่ายบางระจัน วัดโพธิ์เก้าต้น มีโบราณสถานที่เชื่อว่าเป็นวิหารของพระอาจารย์ธรรมโชติ ฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งอุทยานวีรชนค่ายบางระจัน
อำเภอบางระจัน วัดพระปรางค์ ด้านหน้าวัดเป็นแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย มียุวมัคคุเทศก์นำชมวันเสาร์และอาทิตย์ น่าแวะสวนผลไม้ที่อำเภอท่าช้าง สวนณัฐวุฒิปลูกกระท้อน ชมพู่ ลิ้นจี่ กลางคืนมีหิ่งห้อยให้ชม โทรศัพท์ 08 1570 7707
อาหารการกิน
เช้า ๆ น่านั่งร้านกาแฟโบราณ ใกล้เทศบาลเมืองสิงห์ แล้วแวะถนนวิไลจิตต์-เลียบริมแม่น้ำ ชิมข้าวมันไก่ร้านพรเพ็ญ ถัดกันเป็นร้านกำไล ลองกับข้าวและก๋วยเตี๋ยวซึ่งปรุงด้วยลูกชิ้นปลากราย ใกล้ ๆ เป็นร้านซาลาเปาแม่สายใจ น่าลองชิมไส้ปลากับไส้หน่อไม้
มื้อเย็นแนะนำร้านรำพึง ถนนขุนสวรรค์ และร้านนิธิโรจน์ ใกล้วัดพิกุลทอง ริมแม่น้ำน้อย ทั้งสองร้านขึ้นชื่อเมนูปลา
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ททท. สำนักงานลพบุรี โทรศัพท์ 0 3677 0093, 0 3677 0096
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 51 ฉบับที่ 12 กรกฎาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น